ประวัติความเป็นมา
ประวัติความเป็นมาชะอวด
30 พฤศจิกายน 542

0


ประวัติความเป็นมา

ชะอวด เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดนครศรีธรรมราช เดิมเป็นชื่อตำบลที่อยู่ภายใต้การปกครองของอำเภอร่อนพิบูลย์ เป็นตำบลที่มีอาณาเขตกว้างขวางมาก  คำว่า“ชะอวด”เป็นคำที่ไม่มีในพจนานุกรม แต่คำว่า อวด มีความหมายในทางที่ดี แปลว่า สำแดงให้รู้ แสดงให้ปรากฏ การอวดให้คนอื่นรู้ให้ผู้อื่นเห็นล้วนเป็นสิ่งที่ดีงามทั้งสิ้น "อวด" ยังเป็นชื่อพรรณไม้ชนิดหนึ่งเป็นเถาวัลย์ เดิมมีอยู่ทั่วไปในท้องที่อำเภอนี้ ชาวบ้านเรียกว่าย่านอวดหรือเชือกอวด เถาวัลย์ชนิดนี้เป็นที่นิยมของชาวบ้านโดยทั่วไป เพราะมีประโยชน์ในการผูกมัดสิ่งของได้สารพัดเช่น ผูกรั้วบ้าน ผูกมัดโรงหนังตลุง โรงมโนราห์ ใช้ทำเชือกลากเรือพระในวันออกพรรษา เป็นต้น เพราะเป็นเถาวัลย์ที่มีความเหนียวแน่นทนทาน  การไปตัดต้นอวดค่อนข้างลำบากเพราะต้องดึงออกจากการเกี่ยวพันธ์กับต้นไม้อื่นๆ เกี่ยวพันอยู่ หากมีรังมดแดงอยู่ข้างบน คนที่ชะหรือดึงย่านอวดต้องต่อสู้กับมดแดงอีกทางหนึ่งด้วย ถิ่นแถว ชะอวด เป็นบริเวณที่มีย่านอวดขึ้นมากเป็นพิเศษและ ชาวบ้านก็จะไปตัดมาใช้สอยอยู่เป็นประจำ ชาวบ้านจึงเรียกท้องถิ่นของตนเองว่า “ชะอวด”

 

 

 

พื้นที่ของตำบลชะอวด เดิมครอบคลุมไปทั่วทั้งบริเวณที่เป็นภูเขาทางทิศตะวันตก แล้วลาดต่ำลงมาทางทิศตะวันออกเป็นลอนลูกคลื่น มีที่ราบสูงต่ำสลับกัน ส่วนที่เป็นลอนลูกคลื่นเรียกว่า ควน ทางด้านทิศตะวันออกของตำบล เป็นที่ราบและที่ราบลุ่มน้ำท่วมขังทั้งปี เรียกว่า พรุ หรือ โพระ  บริเวณที่ราบและควน อุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้หลากหลายพรรณตามลักษณะของพื้นที่ทางภาคใต้ในอดีต ที่มีฝนตกชุกตลอดทั้งปี

ปรากฏตามหลักฐานในหนังสือราชกิจจานุเบิกษา ลงวันที่ 16 กันยายน 2466 ได้ดำเนินการจัดตั้งเป็น กิ่งอำเภอ เรียกว่า “กิ่งอำเภอชะอวด”

เมืองต้นน้ำ  กุ้งก้ามกราม  อิฐแผ่นงาม  กระจูดสวย  ห้วยน้ำใส

คำขวัญอำเภอชะอวด

และยกฐานะเป็นอำเภอ วันที่ 1 มกราคม 2496 ได้มีพระราชกฤษฏีกายกฐานะกิ่งอำเภอชะอวด ขึ้นเป็นอำเภอ เรียกว่า “อำเภอชะอวด” รวมเวลาเป็นกิ่งอำเภอ 30 ปี

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2544 ได้ย้ายที่สถานที่ทำงานจากหน้าสถานีรถไฟชะอวด ไปตั้งที่ บ้านทุ่งค่าย เลขที่ 181 หมู่ที่ 8 ตำบลชะอวด อำเภอชะอวด

 

 

อาณาเขต

อำเภอชะอวด ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของจังหวัดนครศรีธรรมราช ห่างจากตัวจังหวัด 71 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพมหานครโดยทางรถไฟ 851 กิโลเมตร มีเนื้อที่ 833,002 ตารางกิโลเมตร  มีอาณาเขตดังนี้

            ทิศเหนือ                 ติดต่อ  อำเภอจุฬาภรณ์ อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช
            ทิศใต้                    ติดต่อ  อำเภอป่าพยอม อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง
            ทิศตะวันออก             ติดต่อ  อำเภอเชียรใหญ่ อำเภอหัวไทร อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จ.นครศรีธรรมราช
            ทิศตะวันตก     ติดต่อ  อำเภอทุ่งสง     จังหวัดนครศรีธรรมราช และอำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง

 

การคมนาคม

การติดต่อกับอำเภอชะอวด ในสมัยก่อนโดยทางรถไฟ และทางเรือในลำคลองชะอวดเท่านั้น แต่ปัจจุบันเรือเลิกราไป มีทางรถยนต์ให้ความสะดวก ทั้งการติดต่อภายในอำเภอ ระหว่างอำเภอ และไปต่างจังหวัด เส้นทางที่สำคัญ  คือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 41 ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 4018 หมายเลข 4151 และทางรถไฟสายใต้รถไฟหลายขบวน

 

สภาพภูมิศาสตร์

สภาพพื้นที่ของอำเภอชะอวด บริเวณด้านตะวันออกเป็นที่ราบลุ่มมีสภาพเป็นพรุ ส่วนบริเวณด้านตะวันตก เป็นที่ราบเชิงเขาและเทือกเขา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ แบ่งสภาพพื้นที่เป็น 3 ส่วน คือ ส่วนแรก บริเวณที่ราบใช้ในการทำนา สวนยางพารา และสวนผลไม้ ได้แก่ ตำบล ขอนหาด ตำบล ท่าเสม็ด ตำบลท่าประจะ ตำบลนางหลง และตำบลเกาะขันธ์ ส่วนที่สอง ที่ราบเนินทราย และที่พรุ มีการปลูกมะม่วงหิมพานต์ มะพร้าว กระจูด ต้นเสม็ด ทำนา และขายทรายเพื่อทำการก่อสร้าง ได้แก่ ตำบลชะอวด ตำบลบ้านตูล ตำบลเคร็ง ส่วนที่สาม บริเวณที่ราบภูเขา มีการทำนา ทำสวนยางพารา มีป่าไม้ ขายดินลูกรัง ได้แก่ ตำบลวังอ่างตำบลเขาพระทอง และตำบลควนหนองหงส์ พื้นที่ของอำเภอชะอวด มีลำห้วยและคลองเป็นจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่ตื้นเขินและแคบ ใช้ในการระบายน้ำได้ไม่ดีเท่าที่ควร เมื่อฝนตกหนักเป็นเวลาหลายๆ วัน จะทำให้น้ำท่วมอย่างฉับพลัน และในช่วงหน้าแล้งห้วยและคลองต่างๆ ไม่สามารถเก็บน้ำไว้ได้ ทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำโดยทั่วไป เว้นแต่บริเวณใกล้คลองที่สำคัญๆ   ของอำเภอชะอวด  คือคลองชะอวด  คลองลาไม คลอง ไม้เสียบ และคลองบางกลม กับบริเวณพื้นที่ที่อยู่ใกล้แหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ คือ ห้วยน้ำใส โครงการในพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จ   พระเจ้าอยู่หัว

 

 

 

 

 

สภาพเศรษฐกิจ

         สภาพเศรษฐกิจโดยทั่วไปของอำเภอชะอวด เปรียบเทียบกับอำเภออื่นๆแล้ว ประชากรค่อนข้างจะมีรายได้ต่ำ รายได้ส่วนใหญ่มาจากการทำนา ทำสวนยางพาราสวนผลไม้ อุตสาหกรรมขนาดเล็กและค้าขาย  ศูนย์กลางการค้าขายของอำเภอชะอวด คือตลาดชะอวดในเขตสุขาภิบาล  สินค้าที่มีชื่อมีคุณภาพของอำเภอชะอวด ได้แก่ กุ้งก้ามกราม จากลำคลองชะอวด

ส่วนสินค้าที่มีชื่อมีคุณภาพของอำเภอในตำบลต่างๆ ได้แก่

  • ตำบลเคร็ง มีผลิตภัณฑ์กระจูด
  • ตำบลชะอวดตำบลท่าประจะ มีอิฐดินเผาซึ่งมีโรงอิฐประมาณ 50 โรง
  • ตำบลขอนหาด มีผ้าทอ
  • ตำบลบ้านตูล มีทรายที่ใช้ในการก่อสร้างจำนวนหลายแห่ง
  • ตำบลควนหนองหงษ์ ตำบลเขาพระทอง และตำบลวังอ่าง มีดินลูกรังที่มีคุณภาพดี

 

อาชีพ

อาชีพของคนในท้องถิ่น ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก แต่เนื่องจากดินไม่ค่อยมีคุณภาพ จึงทำให้ผลผลิตต่ำ ทำให้แรงงานส่วนหนึ่งอพยพไปทำงานต่างจังหวัด

การเมืองการปกครองและสังคม

         การปกครอง แบ่งการปกครองออกเป็น 11 ตำบล 87 หมู่บ้าน 2 เทศบาล  และ 10 องค์การบริหารส่วนตำบล     ประชากรส่วนใหญ่ นับถือศาสนาพุทธ คิดเป็นร้อยละ 98.7 ศาสนาอิสลาม ร้อยละ 1.2  ศาสนาคริสต์    ร้อยละ 0.03  โดยมีโรงเรียนประถม 54 แห่ง  โรงเรียนมัธยม 6 แห่ง วัด 24 แห่ง โบสถ์คริสต์ 2 แห่ง   มัสยิด 3 แห่ง

 

วัฒนธรรมประเพณี

ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมเป็นแบบไทยพุทธเป็นส่วนใหญ่ ไม่แตกต่างไปจากท้องที่อื่นในจังหวัดนครศรีธรรมราชมากนัก เช่น ประเพณีทำบุญสารทเดือนสิบ ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีชักพระ ประเพณีลอยกระทง การทำบุญตักบาตรในวันสำคัญต่างๆ ทางพุทธศาสนา นอกจากนี้เป็นการแสดงศิลปะพื้นบ้าน เช่น หนังตลุง มโนราห์ เพลงบอก การละเล่นพื้นบ้าน เช่นการแข่งเรือ ตีตะโพน และสามารถร่ายกลอนกันได้อย่างแพร่หลาย